หยุดคิดสักนิดก่อนสร้างมัสยิดหลังใหม่
بسم الله الرّحمن الرّ حيم
الحمد الله ربّ العالمين والعاقبة للمتقين ولا عدوان إلّا على الظالمين وصلى الله على نبيّنا محمّد وعلى آله وأصحابه أجمعين وبعد
ปัจจุบันความตื่นตัวที่จะสร้างมัสยิดในหมู่มุสลิมถือว่าค่อนข้างสูง สังเกตุได้จากการยื่นขอจดทะเบียนมัสยิดกับทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ
หลายคนอาจรู้สึกว่า ความตื่นตัวดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องดี ซึ่งถ้าไม่คิดอะไรมากเอาแต่จำนวนมัสยิดมากเข้าว่าก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ความเป็นจริงการยื่นขอจดทะเบียนมัสยิดในหลายที่หลายแห่งกลับสะท้อนความเปราะบางอย่างยิ่งของชุมชนมุสลิมออกมา ซึ่งในกรณีนี้ แทนที่มัสยิดจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของมุสลิม ก็กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความแตกแยก และอิบาดะฮฺที่ทำกันในมัสยิดนั้น ก็ถูกนำมาใช้เป็นที่ระบายอารมณ์ความโกรธแค้นชิงชังของคนบางกลุ่ม แทนที่จะเป็นสายเชือกร้อยรัดมวลมุสลิมให้เป็นเอกภาพ ดังเจตนารมณ์ที่อิบาดะฮฺถูกบัญญัตขึ้น
1.เจตนารมณ์แห่งมัสยิด
เมื่อครั้งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) เดินทางถึงมะดีนะฮฺหลังการรอนแรมในทะเลทรายนานนับเดือน งานสร้างเชิงวัตถุชิ้นแรกที่ท่านลงมือทำคือสร้างมัสยิด ซึ่งมีนัยยะทางสังคมลึกซึ้งมากกว่าการใช้มัสยิดเป็นเพียงสถานที่ละหมาดอย่างในปัจจุบัน
เป็นความจริงที่กิจกรรมสำคัญสูงสุดของมัสยิดคือ การละหมาด แต่สิ่งที่ผู้คิดก่อสร้างมัสยิดทุกคนต้องตระหนัก คือ การละหมาดเป็นปัจจัยหลักที่นำสู่การรวมตัวของมวลหมู่มุสลิม เป็นการรวมตัวที่นำไปสู่การสร้างคนที่มีระเบียบวินัย ความสนิทสนมรักใคร่ และการช่วยเหลือ เกื้อกูลระหว่างกันและกัน ซึ่งทั้งหมดนี่เกิดขึ้นบนฐานความคิดและจิตใจที่ฝักใฝ่และภักดีต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงนั่นเอง
การรวมตัวในรูปแบบดังกล่าว เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสังคมที่กำลังก่อร่างสร้างตัวเช่น สังคมมะดีนะฮฺขณะนั้น ที่เป็นฮิกมะห์สำคัญของบัญญัติให้มุสลิมละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งแม้ผู้ละหมาดจะวางเป้าหมายในการปฏิบัติไว้ที่การสร้างความพอพระทัยต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าเป็นหลัก แต่ก็ควรตระหนักว่าความพอพระทัยแห่งอัลลอฮฺนั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการเน้นหนักข้อบัญญัติหนึ่ง แล้วละเลยหรือฝ่าฝืนข้อบัญญัติอื่นๆของพระองค์ เพราะการกระทำเช่นนั้น คือการแยกส่วนความศรัทธาอันเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ ดังประจักษ์ได้จากพระราชดำรัสแห่งอัลลอฮฺในซูรอฮฺอัลบากอรอฮฺ อายะฮฺที่85
ความว่า : ภายหลังพวกเจ้าก็ต่างฆ่ากันเองและยังขับไล่คนกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเจ้าออกจากหมู่บ้านของพวกเขา โดยที่พวกเจ้าต่างรวมหัวเอาชนะพวกเขาโดยวิธีการอันเป็นบาป และสร้างความอริศัตรูกัน ครั้นถ้าฝ่ายที่พ่ายแพ้มาหาพวกเจ้าในฐานะเชลย พวกเจ้าก็เรียกร้องค่าไถ่ตัวพวกเขา ทั้งๆ ที่การขับไล่พวกเขาออกไปนั้น เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จะศรัทธาแต่เพียงบางส่วนของคัมภีร์และปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้นหรือ? สิ่งตอบแทนแก่ผู้กระทำเช่นนั้นมิใช่อะไรอื่นนอกจากความอัปยศอดสูในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้ส่วนในวันกิยามะฮ์ พวกเขาจะถูกนำกลับไปสู่การลงโทษอันฉกรรจ์ยิ่ง และอัลลอฮ์นั้นจะไม่ทรงเผลอไผลในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันอยู่
ด้วยเหตุนี้
การละหมาดเพียงอย่างเดียวจึงไม่ได้เป็นดัชนีชี้วัดว่าผู้ปฏิบัติเป็นคนดีอย่างแท้จริง
แต่คนดีต้องประกอบด้วยคุณสมบัติและการกระทำอื่นๆ อีกมาก
การละหมาดมีบทบาทเสมอเพียงการวางพื้นฐานแห่งความดีเหล่านั้น
ดุจดังเสาของบ้านนั่นเองดังความปรากฏในซูรอฮฺอัลบากอรอฮฺ อายะห์ที่ 177
ความว่า: “ใช่ว่าความดีจะอยู่ที่พวกเจ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตกก็หาไม่ หากแต่ความดีที่แท้คือการเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และศรัทธาต่อวันสิ้นโลก ต่อมลาอิกะฮฺ ต่อคัมภีร์ และต่อบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย อีกทั้งเป็นผู้หยิบยื่นทรัพย์สินอันเป็นสิ่งที่ตนรักแก่ญาติๆ เด็กกำพร้า คนยากจน คนเดินทาง ผู้ที่ร้องขอและให้ความช่วยเหลือในภาคส่วนของการปลดปล่อยทาสเป็นไท เป็นผู้ที่ดำรงละหมาด จ่ายซะกาต เมื่อให้สัญญาไว้ประการใดแล้วก็รักษาคำมั่นสัญญา เป็นผู้ที่อดทนในยามทุกข์ยาก อันตราย และในยามเกิดภัยพิบัติคนเหล่านี้คือผู้มีความสัจจริง และคนเหล่านี้คือผู้มีความยำเกรง”
โดยนัยแห่งอายะฮฺนี้ การสร้างมัสยิดจึงต้องไม่คิดเพียงใช้เป็นสถานที่ละหมาด แต่มัสยิดต้องเป็นฐานหลักของการสร้างสรรค์ความดีอย่างเป็นองค์รวมแก่สังคม ซึ่งเมื่อมองไปยังการสร้างมัสยิดของบรมศาสดาจะพบว่าการสร้างมัสยิดในสมัยของท่าน นอกเหนือจากการเป็นสถานที่ละหมาดแล้ว ยังเป็นฐานดำเนินภารกิจสำคัญอีก2 ประการ คือ
1.การสร้างภราดรภาพในสังคม
2.การวางระเบียบทางสังคมตามหลักนิติบัญญัติแห่งอัลกุรอาน
ภายหลังการก่อสร้างมัสยิดนะบะวีย์แล้วเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เอกภาพของสังคมและความสงบเรียบร้อยภายใต้หลักกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างเต็มไปด้วยวิทยปัญญา โดยบรมศาสดาผู้ทรงคุณธรรม
2 มัสยิดที่ย้อนแย้งกับเจตนารมณ์แห่งศาสดา ถือเป็นมัสยิดฏิรอร
เมื่อตระหนักถึงเป้าหมายของการสร้างมัสยิดว่า มุ่งให้เกิดเอกภาพและภราดรในสังคม รวมทั้งต้องการให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการนำกฎระเบียบแห่งชีวิต ซึ่งถูกตราไว้ในอัลกุรอาน มาเป็นกรอบของการอยู่ร่วมกันแล้ว ก็ควรเข้าใจว่ามัสยิดใดก็ตาม หากสร้างขึ้นแล้วทำให้เอกภาพ - ภารดรภาพในสังคมเสียหาย หรือสร้างขึ้นโดยเจตนาจะล้มล้างกฎระเบียบที่ควบคุมสังคมให้ดำเนินไปตามกรอบอิสลามอยู่ มัสยิดนั้นย่อมถือเป็น “มัสยิดฏิรอร”
มัสยิดฎิรอรปรากฏอยู่ในอัลกุรอานซูรอฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 107 ดังนี้
ความว่า:“อันว่าบรรดาผู้ซึ่งนำมัสยิดมาสร้างภยันตราย ทำให้เกิดสภาวะการปฏิเสธอัลลอฮฺทำให้เกิดสภาวะความแตกแยกในมวลหมู่ผู้ศรัทธา และคอยสอดส่องช่วยเหลือผู้ที่ตั้งตนทำสงครามกับอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์พวกเขาจะลงทุนสาบถสาบานว่าไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากความดีงาม แต่อัลลอฮฺทรงประจักษ์แจ้งว่าพวกเขามุสา”
อายะฮฺนี้ได้วางหลักเกณฑ์สำหรับชี้ว่ามัสยิดใดเป็นมัสยิดฎิรอรไว้ชัดเจน ได้แก่
2.1 เป็นมัสยิดที่สั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงของสังคม
เช่น มัสยิดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพักพิงซ่องสุมของกลุ่มฝักใฝ่อบายมุข กลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มนอกรีต หรือการใช้มัสยิดเป็นฉากบังหน้าของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด เพื่อสร้างภาพว่าตนเองเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เป็นต้น
ในยุคสมัยที่วัตถุเงินทองเป็นใหญ่เช่นในปัจจุบัน เราอาจพบเห็นมัสยิดที่สร้างขึ้นโดยกำลังเงินของคนเหล่านี้มากขึ้น มันอาจเป็นมัสยิดที่ใหญ่โต โอ่อ่าโอฬาร กระทั่งสามารถชักจูงใครต่อใครให้หลงติดกับภาพภายนอกที่ดูสวยงามนั้นได้ โดยเฉพาะหากถูกยั่วยวนด้วยตำแหน่งแห่งหนด้วยแล้ว ก็อาจเห็นคนจำนวนมากแห่กันเข้าไปใช้บริการมัสยิดหลังนี้ก็ได้
การยอมรับมัสยิดที่สร้างขึ้นโดยคนที่เป็นภัยต่อสังคม เช่น คนค้ายาเสพติด เท่ากับยอมรับต่อสถานภาพของบุคคลนั้น และเท่ากับยอมรับความชั่ว โดยไม่ได้คิดต่อต้านขัดขวาง แม้จะยังละหมาดอยู่ แต่ย่อมเป็นละหมาดที่ว่างเปล่าไร้ความหมายใดๆ เพราะผู้กระทำทำไปอย่างย้อนแย้งกับพระประสงค์แห่งอัลลอฮฺที่ทรงระบุว่าละหมาดจะช่วยยับยั้งความชั่วช้าเลวทรามได้ จึงแทนที่บุคคลประเภทนี้จะช่วยยับยั้งความชั่วดังพระราชประสงค์ พวกเขากลับกลายเป็นผู้ส่งเสริมความชั่วโดยอ้อมแทน
2.2 เป็นมัสยิดที่ทำลายกฎระเบียบหรือโครงสร้างของสังคมซึ่งยืนอยู่บนหลักการอิสลาม
การศึกษาอิสลามในประเทศไทยไม่ได้ให้น้ำหนักกับความสำคัญของโครงสร้างสังคมมากนัก
จึงไม่สามารถผลิตคนที่เคารพกฎระเบียบออกสู่สังคมได้อย่างพอเพียง
ในหมู่ผู้เรียนศาสนามีคนพร้อมทำลายกฎเกณฑ์ของสังคมด้วยการสร้างมัสยิดใหม่
โดยไม่คิดขออนุญาตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเหตุผลสำคัญที่นำสู่การก่อสร้าง คือ
ไม่ยอมรับต่อกฎระเบียบที่มีการใช้กันอยู่ในชุมชนของตนเอง
อัลกรุอานได้กล่าวถึงสัจธรรมข้อหนึ่ง เกี่ยวกับผู้มีอันจะกินทั้งหลายในสังคม ว่าพวกเขามักจะปฏิเสธข้อเรียกร้องของบรรดารอซู้ลเสมอ เหตุผลสำคัญของการปฏิเสธคือ คิดว่าตนเองควรได้รับการเทิดไว้เหนือกฎเกณฑ์ทั้งปวง เพราะพวกตนถึงพร้อมด้วยทรัพย์สินและบริวาร
โปรดพิจารณาอายะฮฺที่ 34-35 แห่งซูรอฮฺสะบะอ์ซึ่งปรากฏดังนี้
ความว่า “ไม่ว่าเราจะส่งศาสนทูตผู้ตักเตือนไปยังเมืองใด ทุกคนจะเผชิญกับผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ซึ่งจะพากันกล่าวกับศาสนทูตว่า เราขอปฏิเสธสิ่งที่พวกท่านนำมาทุกประการ พวกเขากล่าวอ้างว่า มีทรัพย์สินและบริวารมากมาย จึงไม่ถูกลงโทษแน่นอน”
ปัจจุบัน หากพิจารณาให้ดี เราจะพบว่าผู้ที่แยกตนออกจากสังคมไปสร้างมัสยิดใหม่ และกลายเป็นแกนนำของมัสยิดฎิรอร มักเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคมทั้งสิ้น เพราะลำพังคนยากจนย่อมไม่มีกำลังที่จะทำเช่นนั้นได้
2.3 เป็นมัสยิดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานในชุมชนมุสลิม
ปัจจุบันความแตกแยกในสังคมมุสลิมค่อนข้างรุนแรง โดยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการได้แก่
2.3.1 ความแตกแยกอันเกิดจากความเห็นต่างทางศาสนา
ความแตกแยกจากสาเหตุนี้มักมีผู้รู้เป็นหัวขบวน แต่เป็นผู้รู้ที่ผ่านการศึกษาแบบแยกส่วน จึงทำให้ยึดหลักการอิสลามไม่คำนึงถึงความเป็นองค์รวม หรือมีแต่ซุนนะฮฺแต่ขาดวิญญาณแห่งญะมาอะฮฺไป
ในธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างนี้ส่วนย่อยของสรรพสิ่งมักมีแขนงแยกย่อยอยู่มากมาย แต่ทั้งหมดล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน ครั้นเมื่อผู้รู้เหล่านี้ยึดส่วนย่อยมาเป็นแกน และละทิ้งแก่นสำคัญไป สิ่งที่เกิดเป็นผลตามมาคือ การปฏิเสธแขนงย่อยอื่นๆ ที่ล้วนมาจากแก่นเดียวกัน และที่สุดก็คือนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ซึ่งแสดงออกโดยการแยกมัสยิดนั่นเอง
ข้ออ้างของผู้แยกมัสยิดส่วนใหญ่อยู่ในประเด็นนี้พวกเขาเพ่งมองส่วนย่อยของซุนนะฮฺเป็นการเฉพาะและไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างในส่วนนี้ จนในที่สุดก็นำไปสู่การแยกมัสยิด ซุนนะฮฺส่วนย่อยที่พวกเขายึดมั่นยังอยู่กับพวกเขาต่อไป แต่ซุนนะฮฺใหญ่ที่กำหนดให้มุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพได้ถูกทำลายลง
มัสยิดสองแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันแม้จะกราบกรานพระเจ้าองค์เดียวกัน หันหน้าไปไปสู่ทิศทางเดียวกัน แต่กลับ ไม่สามารถทำอิบาดะฮฺร่วมกันได้ อิบาดะฮฺ เช่น ละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งควรเป็นกรอบหลอมรวมมุสลิมเข้าด้วยกัน กลับเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งแยกคนเป็นกลุ่มก้อนแทน
อันที่จริง นบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) ผู้เป็นแหล่งกำเนิดแห่งซุนนะฮฺที่แต่ละฝ่ายอ้างถึง เป็นผู้ตระหนักดีถึงธรรมชาติแห่งมนุษย์ ที่แม้จะมีที่มาจากแห่งเดียวกันก็จริงอยู่ แต่ในส่วนปลีกย่อยของชีวิต มีความแตกต่างอยู่มากมาย ท่านจึงยอมรับความเห็นต่างของเหล่าซอฮาบะฮฺที่หลายครั้งได้ตีความคำพูดและการกระทำของท่านไม่ตรงกัน สิ่งที่ท่านเป็นห่วงคือการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันเหล่านี้จะต้องไม่นำไปสู่การแตกแยกแบ่งฝ่ายอย่างเด็ดขาด กระทั่งถึงกับยกให้การสร้างภราดรภาพและความเป็นเนื้อเดียวกันในหมู่มุสลิม มีฐานะสูงส่งกว่าตัวละหมาดด้วยซ้ำไป เช่น ในหะดีษต่อไปนี้
ألا أخبر كم بأفضل من در جة الصلاة والصيام والصدقة ؟ قالو ابلى يا رسول الله , قال صلاح دات البين , فإن فساد دات البين هي الحالقة (رواهالتر مذي في صفة القيامة 2511 وأ بو دا ود في الأدب 4919)
“เอาไหม ฉันจะบอกให้รู้ว่าอะไรล้ำเลิศกว่าการละหมาด การถือศีลอด และการบริจาคทาน” เหล่าซอฮาบะฮฺตอบว่า เอาครับ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺท่านเฉลยว่า คือการสมานรอยร้าว แท้จริงความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามของผู้คนคือตัวทำลายศาสนา”
โดยนัยแห่งคำสอนเช่นนี้ของบรมศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เหล่าซอฮาบะฮฺจึงเข้าถึงแก่นแห่งศาสนาได้ แม้พวกท่านเหล่านั้นจะมีความเห็นต่างในประเด็นปลีกย่อยมากมาย เช่น ความเห็นต่างระหว่างอุมัรอัลค็อฎฎอบ กับ อับดุลลอฮฺมัสอูด (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ซึ่งอิบนุลกัยยิมระบุในหนังสือเอียะลามุน มุวักกีอีน ว่ามีอยู่ถึง 100 ประเด็นด้วยกัน แต่ทั้งสองคนก็รักใคร่และห่วงใยกันและกัน โดยไม่มีรอยปริแยกใดๆให้เห็น
ครั้นเมื่ออุมัรลาลับไป ขณะอิบนุมัสอูดมีชีวิตมาจนถึงยุคสมัยอุสมาน อัฟฟาน (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ท่านก็เห็นแย้งกับอุสมานในเรื่องละหมาดที่มินา อุสมานละหมาดเต็มสี่ร็อกอะฮฺขณะอิบนุมัสอูดเห็นว่าควรละหมาดเพียงสอง ตามแบบอย่างแห่งศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) แต่เมื่อเวลาละหมาดจริงๆท่านกลับละหมาดสี่ร็อกอะฮฺเหมือนอุสมาน
มีผู้ถามอิบนุมัสอูดว่าเหตุใดจึงละหมาดสี่ร็อกอะฮฺทั้งๆที่เคยคัดค้านอย่างแข็งขันมาก่อน ท่านตอบว่า
الخلاف شر وهو من شيم أهل الأ هواء (أخرجه عبد الرزاق في المصنف 199:2 وأبوداود 1960 والطبراني 386:6 والبيهقي 143:3)
“ความขัดแย้งเป็นสิ่งชั่วร้าย มันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่เดินตามอารมณ์มากกว่า”
2.3.2 ความแตกแยกอันเนื่องจากการแย่งชิงผลประโยชน์
ที่เห็นบ่อยครั้งที่สุดน่าจะเป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากอิหม่ามมัสยิดเข้าไปพัวพันในลักษณะหนึ่งลักษณะใดแล้ว ก็มักทำให้เกิดรอยร้าวในชุมชน และนำไปสู่การแยกมัสยิดได้
นี่นับเป็นความเลวร้ายอย่างหนึ่งของผู้ทำการแยกมัสยิด เพราะการแย่งชิงตำแหน่งทางการเมือง จนสูญเสียความเป็นพี่น้องไปก็นับว่าชั่วช้าอย่างยิ่งแล้ว ผู้กระทำการยังซ้ำเติมสังคมด้วยการเอามัสยิดที่เป็นสถาบันเพื่อการหลอมรวมผู้คนให้เป็นเอกภาพ มาเป็นที่ระบายอารมณ์และเป็นเครื่องมือต่อรองของตน จนสังคมต้องแยกออกเป็นฝักฝ่ายอีกด้วย
การเข้าร่วมกิจกรรมกับมัสยิดเช่นนี้ นับว่าช่วยเพิ่มรอยร้าวในสังคมให้ปริแยกมากขึ้น บุคคลจึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อ โดยการเห็นแก่พรรคพวก พี่น้อง จนลืมหลักการแห่งอัลลอฮฺไป
2.3.3 ความแตกแยกอันเนื่องจากความไม่พอใจต่อตัวผู้นำ
ความไม่พอใจต่อตัวผู้นำเกิดได้ทั้งเมื่อผู้นำปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ หรือเมื่อผู้นำบกพร่องต่อหน้าที่ของตนเอง
หากปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรงตามอมานะฮฺ ก็สร้างความไม่พอใจต่อผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการทำหน้าที่นั้น
หากปฏิบัติหน้าที่อย่างขาดตกบกพร่อง ก็สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ประสงค์จะเห็นชุมชนเจริญก้าวหน้า
แต่จะไม่พอใจผู้นำด้วยเหตุผลใดก็ตาม มุสลิมย่อมไม่อาจแบ่งแยกสังคมให้แตกเป็นเสี่ยงด้วยการแยกมัสยิด แยกละหมาดได้ เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเช่นนั้น จะยิ่งทำให้สังคมอ่อนแอและเปราะบางมากขึ้น จากความห่างเหินระหว่างกัน และความเป็นพี่น้องที่ขาดหายไป มัสยิดและการละหมาดที่นำสู่ภาวะเช่นนี้ จึงย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ในการสร้างมัสยิดของศาสนทูตมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่สมควรเกิดขึ้นเลย
หากมัสยิดใหม่เกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ไม่พอใจที่อิหม่ามปฏิบัติหน้าที่จริงจังตามหลักศาสนา จนกระทบผลประโยชน์ของพวกเขา ก็สมควรที่มัสยิดซึ่งพวกเขาสร้างขึ้นจะถูกทำลายโดยคนส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรได้รับการเมินเฉยจากมวลชน เพราะการเข้าไปสนับสนุนเท่ากับไปส่งเสริมความชั่วนั้นเอง
ส่วนหากมัสยิดใหม่ ถูกสร้างขึ้นเพราะผู้นำในมัสยิดเดิมย่อหย่อนต่อหน้าที่หรือทำอะไรที่ผู้สร้างเห็นว่าผิดพลาดบกพร่อง ก็ควรที่ผู้สร้างมัสยิดจะได้ตระหนักถึงคำสอนของรอซู้ลแห่งอัลลอฮฺนบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า
من رآى من أميره شينا يكرهه فليصبر عليه , فإنه من فارق الجما عة شبرا فمات إلا ميتة جاهلية (أخرجه البخاي فيكتاب الفتن)
“ผู้ใดเห็นสิ่งที่น่ารังเกียจจากผู้นำของตน ก็จงอดทนเถิด (อย่าได้ทำการแยกตัวได้ตั้งกลุ่มใหม่) เพราะใครก็ตามแยกตัวไปจากญะมาอะฮฺแม้เพียงคืบหนึ่ง แล้วตายไปในลักษณะนั้น สภาพของเขาก็คือชาวญาฮิลียะฮฺไม่มีอื่น”
คำ “ญาฮิลียะฮฺ” สะท้อนบอกการทำอะไรตามใจตนเอง โดยไม่เคารพกฎระเบียบ ไม่ให้ความสำคัญกับผู้นำ การตายแบบญาฮิลียะฮฺ จึงถือเป็นการตายของผู้ทรยศต่ออัลลอฮฺแบบหนึ่ง เพราะแม้ผู้นำจะเลวร้าย แต่มุสลิมถูกสอนให้ตักเตือนผู้นำด้วยความอดทนไม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นกับญะมาอะฮฺได้ ยกเว้น หากผู้นำนั้น กระทำการอันส่อแสดงความเป็นมุรตัดชัดเจนเท่านั้น เพราะความแตกแยกในสังคม เลวร้ายและอาจนำความเสียหายมาสู่ชีวิต มากกว่าการที่ผู้นำมีพฤติกรรมชั่วเสียอีก
2.4 เป็นมัสยิดที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้คิดร้ายทำลายศาสนา
หากมัสยิดถูกใช้เป็นฉากบังหน้าเพื่อปกปิดเจตนาอันแท้จริงของผู้สร้าง อันได้แก่ การทำงานที่สนองผลประโยชน์ของผู้คิดร้ายทำลายศาสนา ทำลายคนดี มัสยิดนั้นก็ย่อมได้ชื่อว่า “มัสยิดฎิรอร”
3. การละหมาดในมัสยิดฎิรอรใช้ได้หรือไม่
การละหมาดเป็นอิบาดะฮฺที่มุ่งเน้นชำระขัดเกลาจิตใจผู้ปฎิบัติให้ผูกพันแน่นแฟ้นกับอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฎิบัติมุ่งหวังความพอพระทัยแห่งอัลลอฮฺและจดจ่ออยู่กับรางวัลที่จะทรงพระราชทานให้มากกว่าการยึดมั่นถือมั่นต่อวัตถุและสรรพสิ่งอันไม่มีจีรังในโลกนี้
เมื่อยึดมั่นต่ออัลลอฮฺก็ย่อมละหมาดตามรูปแบบที่พระองค์ทรงกำหนด และรักษาไว้ซึ่งมารยาทต่างๆ ที่จะทำให้ทรงพอพระทัย ไม่ละหมาดในลักษณาการที่ขัดแย้งกับข้อบัญญัติของพระองค์ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวละหมาดเอง และสถานที่ที่ใช้ในการละหมาด
คำสั่งห้ามการละหมาดในมัสยิดฎิรอร เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺในซูรอฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 108
ความว่า “เจ้าอย่าได้เข้าไปละหมาดในนั้น (หมายถึงในมัสยิดฎิรอร) โดยเด็ดขาด แท้จริงมัสยิดที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานความยำเกรงต่ออัลลอฮฺตั้งแต่วันแรกต่างหาก ที่เจ้าสมควรเข้าไปละหมาดในนั้นมีคนผู้รักที่จะชำระสะสางตนเองให้คงความสะอาดอยู่เสมอ และอัลลอฮฺก็ทรงรักผู้สะอาด”
ด้วยคำสั่งเช่นนี้ผู้ละหมาดที่มุ่งหวังอานิสงค์จากอัลลอฮฺอย่างแท้จริง จึงย่อมระวังที่จะไม่ละหมาดในมัสยิดฎิรอรอย่างเด็ดขาด และย่อมเข้าใจได้ว่าเมื่อห้ามการละหมาด ก็ย่อมห้ามก่อสร้าง และห้ามสนับสนุนการก่อสร้างด้วย ผู้ใดสนับสนุนให้ก่อสร้างมัสยิดฎิรอร ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน ที่ดิน หรือใช้แรงกาย กำลังความคิดเข้าช่วย ย่อมอยู่ในข่ายสนับสนุนให้มีการละเมิดคำสั่งแห่งอัลลอฮฺ และร่วมกันสร้างความเสียหายแก่สังคมชุมชน จึงย่อมไม่ได้รับความพระทัยจากพระองค์แน่นอน และเมื่อมีการห้ามสร้างมัสยิดซึ่งถือเป็นหน่วยใหญ่แล้ว สิ่งที่เล็กกว่ามัสยิด เช่น บาลาซอฮฺ ศาลา หากเข้าข่ายความเป็นฎิรอรที่กล่าวถึงแล้ว ก็ย่อมเป็นที่ต้องห้ามเช่นกัน
หากมีการฝืนสร้างจนแล้วเสร็จ และมีการละหมาดในสถานที่นั้น ถามว่าละหมาดดังกล่าวใช้ได้หรือไม่ อิหม่ามกุรฏุบีย์ ผู้เขียนตัฟซีรอัลกรุฏุบีย์ กล่าวไว้ในการอรรถาธิบายอายะฮฺเกี่ยวกับมัสยิดฎิรอร ว่า
قال علماؤ نا : لايجوزأن يبني مسجد إلى جنب مسجد, ويجب هدمه , والمنع من بنائهلئلا ينصرف أهل المسجد الأول فيبقى شاغرا , إلاأن تكون المحلة كبير ة فلا يكفي أهلها مسجد واحد فيبني حينئد وكدلك قالوا : لاينبغي أنيبني في المصر الوا حد جامعان و ثلاثة , ويجب منع الثاني , ومن صلى فيه الجمعه لم تجزه وقد أحرق النبي صلى الله عليه وسلم مسجد الضرار وهدمه وأسند الطبري عن شقيق أنه جاء ليصلى في مسجد بني غاضرة فو جد الصلاة قد قاتته , فقيل له إن مسجد بني فلان لم يصل فيه بعد , فقال : لاأ حب أن أصلى فيه لأنه بني على ضرار قال علماؤنا : وكل مسجد بني على ضرار أو رياء وسمعة فهو في حكم مسجد الضرار لاتجوزالصلاة فيه (ص 254 ج 7)
“ อุละมาอฺของเรา ต่างมีความเห็นว่า การสร้างมัสยิดหลังหนึ่งใกล้ๆกับมัสยิดอีกหลังหนึ่งนั้นไม่เป็นที่อนุญาต และจำเป็นต้องรื้อถอนมัสยิดหลังนั้นเสีย การห้ามสร้างก็เพื่อป้องกันมิให้คนในมัสยิดหลังเก่าหันแหไปยังหลังใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลังเก่าเปลี่ยวร้างได้ ยกเว้น ในกรณีพื้นที่ใหญ่ๆซึ่งมัสยิดหลังเดียวไม่อาจรองรับผู้คนได้ทั้งหมด จึงอนุญาตให้สร้างได้
ในเรื่องเดียวกันนี้อุละมาอฺยังเห็นว่าในเมือง เมืองหนึ่งไม่ควรสร้างมัสยิดสองหรือสามแห่ง และวาญิบต้องห้ามสร้างหลังที่สอง (หากมีการสร้างขึ้นมา) แล้วผู้ใดไปละหมาดญุมอัตในมัสยิดแห่งที่สองนั้น ถือว่าละหมาดของเขาใช้ไม่ได้ ทั้งนี้ นบี(ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม)ได้สั่งให้เผาทำลายมัสยิดฎิรอรมาก่อนแล้ว
อิหม่ามอัลฎ็อบรีย์มีรายงานที่อ้างถึงท่านชุกัยก์ ว่าท่านเคยจะไปละหมาดที่มัสยิดบนีฆอฎิรอฮฺ (หนังสือบางเล่มอ้างว่า บนีอามิร หรือ อามิรอฮฺ) แต่ไม่ทันจึงมีผู้แนะนำว่าที่มัสยิดอีกหลังหนึ่งของคนอีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ละหมาด (ท่านสามารถไปละหมาดที่นั้นได้) ท่านชุกัยก์บอกว่า ฉันไม่ชอบไปละหมาดที่มัสยิดนั้น เพราะมันถูกสร้างขึ้นในสภาพของมัสยิดฎิรอร
อุละมาอฺของเรายังเห็นว่า มัสยิดใดก็ตาม หากถูกสร้างขึ้นบนฐานของความฎิรอร หรือสร้างขึ้นเพื่อโอ้อวด ต้องการชื่อเสียง มัสยิดนั้นย่อมถือเป็นมัสยิดฎิรอร และไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดในนั้น”
4 สังคมไม่ควรยอมรับคนที่เป็นอิหม่ามในมัสยิดฎิรอร
อิหม่ามกุรฏุบีย์ยังเห็นว่าไม่ควรละหมาดตามคนที่เป็นหรือเคยเป็นอิหม่ามในมัสยิดฎิรอร ยกเว้นคนที่เป็นอิหม่ามนั้นแสดงเหตุผลที่พอยอมรับได้หรือทำการเตาบะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพราะอุมัรอัลค็อฏฏอบเคยห้าม มุญัมมิฮฺอิบนุ ญารียะฮฺ ไม่ให้เป็นอิหม่ามที่มัสยิดกุบาอฺ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเคยเป็นอิหม่ามที่มัสยิดฎิรอรมาก่อน แต่เมื่อมุญัมมิอฺแสดงเหตุผลว่าเขาทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อุมัรจึงให้อภัย และอนุญาตให้เป็นอิหม่ามที่มัสยิดกุบาอฺได้
(الجامع لأ حكام القر آن لأ بي عبدالله محمد بن أحمد الأنصاري القر طبي) بيروت : دار الشام للتر اث (ص 255 ج 7)
นั้นเพราะการไปเป็นอิหม่ามในมัสยิดฎิรอร นอกจากจะเป็นยอมรับให้เกิดความแตกแยกในสังคมแล้ว ยังหมายถึงการตั้งตนเป็นผู้นำ ชักจูงผู้คนให้คล้อยตามไปอีกด้วย ไม่ใช่คล้อยตามในทางที่ดี แต่คล้อยตามในสิ่งที่อิสลามห้าม สังคมจึงไม่ควรยอมรับ
5 สิ่งที่ต้องคำนึถึง เมื่อคิดสร้างมัสยิดหลังใหม่
เมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์การสร้างมัสยิดในอิสลามแล้ว จะพบว่ามัสยิดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ละหมาดญุมอะฮฺ (วันศุกร์) ด้วยนั้น เป็นมัสยิดที่มีการขออนุญาตจากผู้นำก่อนที่จะสร้างแทบทั้งหมด
ในสมัยบรมศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) นครมดีนะฮฺมีมัสยิดทั้งหมด 9 แห่ง แต่ละแห่งสร้างขึ้นในพื้นที่ของแต่ละเผ่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนในเผ่านั้น ซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ใช้ละหมาดร่วมกัน โดยบรมศาสดาจะไปละหมาดให้เป็นปฐมฤกษ์ก่อน เพื่อเป็นเครื่องชี้ว่ามัสยิดนี้สร้างขึ้นมาอย่างถูกต้องชอบธรรม ยกเว้นก็แต่เพียงมัสยิดฎิรอร ที่ท่านสั่งให้เผาและรื้อทำลายเสีย เพราะสร้างขึ้นมาอย่างผิดวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันศุกร์ ทุกคนจะมาละหมาดในที่เดียวกัน คือ มัสยิดนะบะวีย์
(ظفر أحمد العثماني التهانوي : إعلا ء السنن ج 5 ص 2358 حديث 2087)
การชี้นำของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม) ย่อมเป็นที่เข้าใจของเหล่าซอหาบะฮฺเป็นอย่างดี ในกาลต่อมา เมื่อรอซู้ลจากไปแล้ว การสร้างมัสยิดตลอดยุคสมัยแห่งคอลีฟะฮฺทั้งสี่จึงไม่ได้กระทำกันโดยพลกาล แต่เป็นไปโดยคำสั่งหรือการอนุมัติของผู้นำทั้งสิ้น แม้การสร้างมัสยิดนั้นจะอยู่ห่างไกลไปจากมดีนะฮฺอันเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองมากมายก็ตาม
เช่น เมื่อพิชิตเมืองกูฟะฮฺและบัสรอฮฺในอิรักได้ ท่านอุมัรอัลค็อฎฎอบ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) จัดส่งซะอัดอบีวักกอส ไปว่าการที่กูฟะฮฺ และส่งอบูมูซา อัลอัชอะรีไปว่าการที่บัสรอฮฺ เพื่อพิชิตอียิปต์ได้ ก็ให้ อัมรอัลอาสเป็นผู้ว่าการ จากนั้น คอลีฟะฮฺอุมัรก็สั่งการแก่บุคคลทั้งสามให้สร้างมัสยิดศูนย์กลางขึ้น และอนุญาตให้สร้างมัสยิดเล็กย่อยสำหรับเผาต่างๆได้ แต่เมื่อถึงวันศุกร์ต้องไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดศูนย์กลางเท่านั้น
การทั้งหมดชี้ชัดว่ามัสยิดเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองในอิสลาม โดยดำรงสถานะเป็นเสาหลักของสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง การสร้างหรือรื้อถอนทำลายมัสยิดหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ อันส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ จึงต้องดำเนินไปภายใต้ดุลพินิจของผู้ปกครองในสังคมนั้นๆผู้ปกครองซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการนำพาสังคมไปสู่เป้าหมายที่อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้น เป็นการปรกครองที่มุ่งให้มนุษย์ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบทบัญญัติที่มาจากพระองค์ รู้จักการสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ และร่วมกันสร้างเอกภาพและภราดรภาพในหมู่ผู้อาศัยอยู่ร่วมกัน
ดังนั้นการสร้างมัสยิดจึงไม่ควรแสดงถึงการฝ่าฝืนกฎระเบียบทางสังคม หรือแสดงถึงการกระทำตามอำเภอใจ และการละเมิดคำสั่งของผุ้นำอย่างเด็ดขาด เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำของชาวญาฮิลียะฮฺ มิใช่วิสัยของผู้ต้องการประกอบอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺแต่ประการใด
การอิบาดะฮฺที่แท้จริง ช่วยสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความเป็นอุมมะฮฺเดียวกัน ภายใต้ร่มธงแห่งการภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวกัน จึงก่อเกิดประชาชาติอันแข็งแกร่งขึ้น เป็นประชาชาติที่ยึดมั่นในความเห็นร่วมและเคารพในความเห็นต่าง พร้อมๆกับการเคารพกฎกติกาทางสังคมอย่างเคร่งครัด
“แท้จริงอุมมะฮฺนี้ คืออุมมะฮฺของพวกเจ้า เป็นอุมมะฮฺหนึ่งเดียว และข้าคือผู้อภิบาลของพวกเจ้า ดังนั้นจงสักการะต่อข้าเพียงผู้เดียว” (อัลอัมบิยาอฺ92)
ส่วนการสร้างมัสยิดหรือสิ่งอื่นใดอันผู้สร้างอ้างว่าทำไปเพื่ออัลลอฮฺ แต่กลับทำให้อุมมะฮฺนี้แปลกแยกต่อกัน ย่อมมิอาจถือได้ว่าเป็นอิบาดะฮฺ เพราะการอิบาดะฮฺ คือ การนบน้อมยอมตนต่ออัลลอฮฺและบทบัญญัติทุกข้อของพระองค์ เมื่อทรงบัญญัติให้เคารพต่อผู้นำ และให้ทุกคนร่วมสร้างเอกภาพในสังคม ผู้อิบาดะฮฺด้วยใจจริงก็ต้องเคารพกฎข้อนี้ และต้องตระหนักว่าการละเมิดคำสั่งที่ชอบธรรมของผู้นำ การกระทำตามอำเภอใจ โดยฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคมเป็นการกระทำของชาวญาฮิลียะฮฺผู้ป่าเถื่อน ยุคสมัยที่ผู้คนไร้ศาสนาอันเที่ยงธรรม ไม่รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างมีระบบระเบียบ แต่พร้อมจะทำทุกอย่างที่ตอบสนองกิเลสตัณหาของตนเองโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะตามมาทีหลัง ยุคสมัยที่ไร้ผู้นำซึ่งสังคมยอมรับ มีเพียงหัวหน้าเผ่าที่พร้อมจะนำคนของตนปล้นฆ่า แย่งชิงทรัพย์สินของผู้อ่อนแอกว่า และพร้อมจะช่วยเหลือคนของตนไม่ว่าคนๆนั้นจะดีหรือเลวประการใดก็ตาม
โดยนัยนี้ อุละมาอฺผู้ลุกซึ้งในแก่ธรรมอิสลาม เช่น อิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ จึงเห็นว่าการละหมาดญุมอะฮฺของมุสลิมจะกระทำโดยพลการไม่ได้ แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้นำก่อน ส่วนอุละมาอฺท่านอื่นๆ แม้จะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว แต่การระบุว่าให้ชุมชนหนึ่งจะมีการละหมาดญุมอะฮฺสองแห่งไม่ได้ ก็ชี้ให้เห็นว่าปราชญ์อิสลามไม่ได้ยากการอิบาดะอฺออกจากการปกครองแต่อย่างใด อิบาดะฮฺจะจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของการรักษาญะมาอะฮฺที่มีผู้นำเพียงหนึ่ง การละหมาดญุมอะฮฺสองแห่งโดยที่ผู้นำไม่อนุญาตสะท้อนว่าการละหมาดแห่งที่สองเกิดขึ้นโดยพลการ อาจมาจากมูลเหตุที่จะนำไปสู่การเป็นมัสยิดฎิรอร จึงเป็นละหมาดที่ใช้ไม่ได้
สำหรับในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสร้างสถานที่ละหมาดโดยการสร้างนั้นไม่นำสู่สภาวะมัสยิดฎิรอร ประชาชนอาจสร้างก่อนโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้นำก็ได้ ครั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ควรแจ้งแก่ผุ้นำของตนให้รับรู้ เพื่อแสดงมารยาทอันดีงามตามแบบฉบับแห่งรอซู้ลแห่งอัลลอฮฺ(ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม)
แต่ในกรณีชุมชนเดียวกันการสร้างมัสยิดบาลาซอฮฺหรือสิ่งอื่นใด อันอาจส่งผลกระทบต่อเอกภาพและภราดรภาพของคนในสังคม จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้นำในสังคมก่อนเสมอ ซึ่งโดยปกติแล้วการพิจารณาอนุญาตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ ซึ่งจะกล่าวในลำดับต่อไปนี้
6 องค์ประกอบในการพิจารณาให้สร้างมัสยิดใหม่
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดถือเป็นผู้นำในระบบจังหวัดของมุสลิมไทย มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ หรือเพิกถอนทะเบียนมัสยิดในจังหวัดของตน ซึ่งในการพิจารณาว่าจะให้จดทะเบียนเป็นมัสยิดหรือไม่ มักดูจากองค์ประกอบดังนี้
1 ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชน
หากภูมิลักษณะของชุมชนมีสิ่งที่ทำให้ถูกแบ่งแยกออกจากกันเป็นสองส่วนโดยพรมแดนทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำลำคลอง หรือสิ่งที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น ถนนหนทางขนาดใหญ่ ซึ่งปิดกั้นการไปมาหาสู่โดยสะดวกของผู้คน หรือพรมแดนทางวัฒนธรรม เช่น หมู่บ้านของคนต่างศาสนากั้นอยู่ คณะกรรมการอาจถือว่าทั้งสองส่วนนี้เป็นคนละชุมชน และอาจอนุญาตให้สร้างมัสยิดเพื่อละหมาดญุมอะฮฺได้ ทั้งนี้หากสถานที่ที่จะสร้างมัสยิดใหม่มีจำนวนประชากรพอเพียง
2 จำนวนประชากร
หากจำนวนประชากรในชุมชนเพิ่มขึ้นมาก จนมัสยิดหลังเดิมไม่อาจรองรับจำนวนผู้ละหมาดญุมอะฮฺได้ทั้งหมด อีกทั้งไม่สามารถขยายเพิ่มเติมอาณาเขตของมัสยิดหลังเดิมได้อีกแล้ว ก็ถือว่ามีความจำเป็นต้องสร้างมัสยิดอีกหลังหนึ่งเพื่อให้ทุกคนสามารถละหมาดญุมอะฮฺได้ตามบัญญัติแห่งอิสลาม
3 สถานที่ตั้งของมัสยิด
มัสยิดเป็นพระราชฐานแห่งอัลลอฮฺต้องตั้งอยู่ในสถานที่อันเหมาะสมแก่สถานะ เช่น อยู่ในที่ดินที่สามารถสร้างมัสยิดได้ตามกฎหมายบ้านเมือง ไม่ตั้งอยู่ในที่ดินอันเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล หรือนิติบุคคล โดยที่ผู้มีกรรมสิทธิ์นั้นยังไม่ยกให้เพื่อการสร้างมัสยิด
นอกจากองค์ประกอบทั้งสามที่กล่าวมาซึ่งเป็นที่รับทราบของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดโดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการคือความพร้อมด้านบุคลากร หากองค์ประกอบอื่นๆครบถ้วน แต่ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการมัสยิดตามวิถีอิสลาม ขาดคนที่ตั้งใจทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน โดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง มัสยิดดังกล่าวก็อาจกลายเป็นสถานที่รกร้างเพราะไร้การพัฒนา หรืออาจกลายเป็นแหล่งแย่งชิงผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มไปก็ได้
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การจัดอบรมบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์แห่งมัสยิด ความรับผิดชอบ (อมานะฮฺ) ที่พวกเขามีต่ออัลลอฮฺและต่อประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมัสยิด ทั้งนี้เพื่อให้มัสยิดที่จดทะเบียนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนได้อย่างแท้จริง
7 ขั้นตอน
การขอจดทะเบียนมัสยิด
ในการขอจดทะเบียนมัสยิดมีขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. แจ้งความประสงค์ขอจดทะเบียนมัสยิดต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ตนสังกัด
2. สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบสภาพมัสยิดที่ขอจดทะเบียน
3. คณะกรรมการตรวจสอบที่ได้รับการแต่งตั้ง ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการพิจารณา
4. คณะกรรมการตรวจสอบรายงานผลการรวบรวมข้อมูลต่อที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
5. หากที่ประชุมมีมติให้จดทะเบียนมัสยิด ก็จะแต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
6. คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจัดส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับมัสยิดทั้งหมดต่อฝ่ายทะเบียนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
7. เมื่อเอกสารหลักฐานพร้อมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะแจ้งการจดทะเบียนมัสยิดใหม่ต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
………………………………………………
ขั้นตอนและระเบียบการเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้มัสยิดทำหน้าที่เป็นสถาบันการสร้างชุมชนเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง ผุ้ที่ประสงค์จะทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจ ย่อมดำเนินการตามขั้นตอนโดยไม่คิดฝ่าฝืน เพราะตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของญะมาอะฮฺที่จะต้องมีกติกาในการควบคุมดูแลพฤติกรรมของสมาชิก
ส่วนผู้ที่สร้างมัสยิดหรือบาลาเซาะฮ์ขึ้นโดยไม่ยึดโยงกับระเบียบของสังคม คิดแต่เพียงว่าจะทำการละหมาดตามที่ตนเองต้องการ สิ่งที่สร้างขึ้นนั้นอาจเป็นมัสยิดฎิรอรและบุคคลที่ร่วมสร้างก็อาจกำลังก่อพฤติการณ์ของชาวญาฮิลียะฮฺ หาใช่วิสัยของคนที่คิดจะอิบาดะฮฺไม่ เพราะการกระทำดังกล่าวส่อว่าพวกเขามีชีวิตอยู่โดยไม่ขึ้นกับผู้นำในสังคม อันเป็นพฤติกรรมของชาวญาฮิลียะฮฺโดยแท้ ดังคำของบรมศาสดามุหัมมัด(ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม)
عن ابن عمر رضي الله عنهما قال : سمعت رسول الله صلى الله عليه وسلم يقول : من خلع يدا من طا عت لقي الله لا حجة له ؛ ومن مات ليس في رقبته بيعة مات موتة جاهلية (مستخر أبي عو انة ,كتاب الحدود , رقم الحديث 5642)
“ผู้ใดถอนตัวจากการเชื่อฟัง(ผู้นำ)ผู้นั้นจะพบกับอัลลอฮฺ โดยไม่อาจหาเหตุผลมาอธิบายการกระทำของตนได้ (หรือพระองค์ไม่รับฟังเหตุผลข้ออ้างใดๆ) และผู้ใดตายไปโดยไม่ได้ให้สัตยาบันต่อผู้นำ ผู้นั้นตายเยี่ยงชาวญาฮิลียะฮฺคนหนึ่ง”
اللهم الف بين قلوبنا وأصلح ذات بيننا واهدنا سبل السلام
آمين يا رب العالمين
26 ربيع أول 1434 ه
7 فبر اير 2013 م